เล่าประวัติของ... ชนเผ่าตองเหลือง

ชนเผ่าตองเหลือง หรือที่เรียกตนเองว่า “เผ่าบลาบรี” เป็นชนเผ่าหนึ่งที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือของประเทศ และเป็นชนเผ่าพื้นเมืองเดิมคือ เป็นชนเผ่าดั้งเดิม ไม่ใช่ชนเผ่าที่พึ่งอพยพย้ายมาภายหลังเหมือนบางชนเผ่า ชนเผ่านี้อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดน่าน และจังหวัดแพร่ เป็นชนเผ่าที่เร่ร่อนอยู่ในป่า มีประชากรประมาณ(ไม่เกิน) ๕๐๐ คน
ความเป็นอยู่ ชนเผ่านี้ เดิมอยู่ในป่าที่มีภูมิประเทศลักษณะเป็นลำห้วย หรือภูเขาที่มีป่าทึบ(ดงดิบ) เพื่อจะหาอาหารง่าย เพราะในป่าจะมีล้ำต้นเผือกหรือมันตามธรรมชาติ อีกอย่างชนเผ่านี้ อยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง จะตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ๆ ลำห้วย เพื่อไปเอาน้ำสะดวก และมีการใช้ไม้หรือกิ่งไม้ที่หาได้ง่ายมาทำเป็นเพลิงหมาแหงนมีใบตองกล้วยมุงเป็นหลังคา เมื่อยู่ถึง ๔ วัน หรือ ๗ วันใบตองกล้วยกลายเป็นสีเหลือง เขาก็ต้องอพยพไปอยู่ที่อื่นแต่ไปไม่ไกล อาจเป็นเหนือลำห้วยหรือใต้ลำห้วย หรืออาจเป็นเขาอีกลำห้วยหนึ่ง แล้วแต่การหาอาหารที่จะสะดวก เมื่อเวลาชนเผ่าพบหรือเจอกัน ให้ดูสัญลักษณ์ที่ใบหู คือมีใบหูเจาะรูไว้หรือไม่ ถ้าเจาะไว้ถือว่าเป็นพวกเดียวกัน จากนั้นค่อยทักทายกัน

โดยปกติชนเผ่านี้ไม่ชอบสวมใส่เสื้อผ้า อยู่อย่างสมถะ ความพออยู่พอกิน (เป็นชนเผ่าที่รักเศรษฐกิจพอเพียงมากที่สุด) มีภูมิปัญญาที่จะดำรงอยู่ในป่า คือ การจุดไฟด้วยฝ้ายแห้งและหินจำนวน ๒ ก้อน มากระทบกันเกิดประจุไฟ แล้วกองฟืนแห้งกลายเป็นไฟก่อ สามารถเผาเผือก มัน ให้สุกได้

ภาษาและวัฒนธรรมและประเพณีชนเผ่าตองเหลือง มีภาษาของตัวเอง มีวัฒนธรรมและประเพณี เช่นเวลาแต่งงาน (สมรส) ถ้าชายและหญิงพอใจกัน ก็จะไปบอกพ่อแม่ฝ่ายหญิง พ่อแม่ฝ่ายหญิงถามว่า รักกันจริงหรือชายหญิงก็ตอบว่า รักกันจริง จากนั้นก็ไปอยู่ด้วยกันเลยไม่ต้องกินเลี้ยงฉลองแต่งแต่อย่างใด โดยจะอยู่กับพ่อแม่ฝ่ายหญิงก่อน เดือนหรือ ๒ เดือน หรือเป็นปี จากนั้นก็ให้แยกออกไปหากินอิสระได้ ชายหญิงช่วยกันหากิน ส่วนอายุของชายหญิง แต่งงานได้แล้วหรือไม่นั้น ให้ดูที่ขีดความสามารถในการหาอาหารแต่ละคน เวลาใครเสียชีวิตเมื่อรู้แน่ว่าตายแล้ว ก็ให้นำศพไปไว้ในโพรงไม้ แล้วนำก้อนหินไปปิดไว้ ไม่ต้องมาทำพิธี ไม่ต้องเศร้าโศกเสียใจเอาศพเก็บไว้ข้ามคืน ปัจจุบันชนเผ่าตองเหลือง เริ่มเข้ามารวมกันอยู่เป็นหมู่บ้าน เช่น หมู่บ้านห้วยหยวก หมู่ ๖ตำบลแม่ขะนิง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน มี ประชากรทั้งหมด ๓๐ ครอบครัว มีจำนวน ๑๕๙ คน ย้ายมาตั้งอยู่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ มีนายศรี หิรัญคีรี เป็นหัวหน้า มีนายแก้ว นายป๋า และนายทอง เป็นกรรมการ สำหรับนายทองและนายป๋า พูดคำเมืองเก่งมาก ทั้งหมดนี้ทางราชการได้ให้สัญชาติไทยแล้ว จึงสามารถเลือกตั้งผู้แทนราษฎร (สมาชิกสภา) ได้เช่นเดียวกับเรา

การศึกษา ปัจจุบันชนเผ่าตองเหลืองเรียนหนังสือในเวียง จังหวัดน่าน แต่ไม่ค่อยอยู่กับเพื่อนได้เนื่องจากความมีปมด้อยของชนเผ่า คือ มีคนเรียกเขาว่า ผีตองเหลือง เขาจึงรับไม่ได้ อย่างไรก็ตามมีเด็กตองเหลืองเรียนจนถึง ม.๓ ก็มีแล้ว แต่ทว่าสังเกตดู เวลาเราขอถ่ายรูปกับเผ่าตองเหลือง และมอบเงินทองให้เขา เขาจะบอกว่าไม่เอาไม่รับ หากต้องการก็ให้ไปมอบที่หัวหน้าเผ่า แสดงว่าในจิตใจของเขายังไม่เกิดความโลภ เป็นจิตใจที่บริสุทธิ์ไม่เหมือนบางชนเผ่าหรือบางหมู่บ้าน ที่เวลานักท่องเที่ยวขอถ่ายรูปก็จะขอเงินด้วย

ศาสนา เดิมชนเผ่าตองเหลือง ไม่มีศาสนาเหตุผลคือ อ้างว่าการนับถือศาสนาคือการเสียเวลา ไปไหนต้องบอกท่าน หากเราไม่นับถือ ไปไหนก็ไม่ต้องบอกท่านแต่ปัจจุบันเผ่าตองเหลืองที่บ้านห้วยหยวกฯ นับถือศาสนาคริสต์ ถามว่าทำไม? ไม่นับถือศาสนาพุทธ นายป๋าบอกว่าศาสนาพุทธมีพิธีเยอะและเสียเวลา คุกเข่าแล้วเจ็บหัวเข่าด้วย พวกเราชาวพุทธทำอะไรอยู่ น่าเสียดายจัง....


จากวารสารพระธรรมจาริก
เขียนโดย: พันตำรวจโท นาวิน วงศ์รัตนมัจฉา
นิสิตพุทธศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่

ข้อความจาก :www.lannatalkkhongdee.com